 
บางท่านอาจจะสับสนกับเรื่องกระดาษที่ใช้สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ เราทำได้สรุปประเภทของกระดาษ ลักษณะการใช้งาน เพื่อช่วยให้ท่านได้เข้าใจ และสามารถเลือกประเภทกระดาษ ที่จะนำไปใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ของท่านอย่างเหมาะสม...
แต่ที่จริงแล้วกระดาษแยกเป็นกี่ประเภท? อะไรบ้าง? ต้องลองมาดูกัน...
ผู้คิดค้นกระดาษ
เชื่อกันว่ากระดาษถูกคิดค้น และใช้งานครั้งแรกโดยชาวอียิปต์โบราณ เมื่อราว 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งกระดาษในสมัยนั้นถูกผลิตขึ้นมาจากกกชนิดหนึ่ง ชื่อ "พาไพรัส" ส่วนวัสดุที่ใช้เขียนในสมัยนั้นก็มีมากมายหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น แผ่นโลหะ หิน ใบลาน หรือเปลือกไม้
ประเภทของกระดาษ
ความจริงแล้วกระดาษ สามารถถูกแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ กระดาษเคลือบผิว และกระดาษไม่เคลือบผิว
กระดาษเคลือบผิว
ได้แก่ กระดาษที่ถูกนำไปเคลือบผิวให้เกินความมัน หรือความด้านตามต้องการ ซึ่งกระดาษประเภทเคลือบผิวที่เราพบเห็นได้บ่อยมากที่สุด ก็คือ "กระดาษอาร์ต" นั่นเอง
กระดาษอาร์ตก็จะมีทั้ง กระดาษอาร์ตมัน และกระดาษอาร์ตด้าน ซึ่งกระดาษทั้ง 2 ประเภทนี้มี คุณสมบัติเด่นคือ สามารถนำไปพิมพ์งานที่มีสีสันได้สดใส สวยงาม ดังนั้น กระดาษประเภทเคลือบผิว จะเหมาะสำหรับงานที่ต้องการความสวยงามของสีสันของงานพิมพ์นั่นเอง
ตัวอย่างงานพิมพ์ที่ใช้กระดาษเคลือบผิวที่สามารถพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ งานพิมพ์ประเภทนิตยสาร ที่วางขายอยู่ตามร้านหนังสือทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น นิตยสารดิฉัน, แพรว, บ้านและสวน เป็นต้น
ส่วนความหนาของกระดาษแบบเคลือบผิวนี้ ก็มีตั้งแต่ 90 - 310 แกรม แล้วแต่ความเหมาะสมของประเภทงานพิมพ์
กระดาษไม่เคลือบผิว
ได้แก่ กระดาษที่ไม่ได้ถูกนำไปเคลือบผิวให้เกิดความมัน หรือความด้าน ซึ่งกระดาษประเภทไม่เคลือบผิวที่พบเห็นกันได้มากที่สุด ก็คือ "กระดาษปอนด์" นั่นเอง
หากท่านคิดไม่ออกว่ากระดาษปอนด์หน้าตาเป็นอย่างไร ก็คิดถึงกระดาษถ่ายเอกสารทั่วๆ ไป หลายหลายยี่ห้อ ที่ขายกันอยู่ตามห้างสรรพสินค้านั่นแหละ
เนื่องจากประเภทนี้ มีคุณสมบัติในการรับหมึกที่ไม่ดีเท่ากับกระดาษประเภทเคลือบผิว เราจึงไม่ค่อยได้เห็นการนำกระดาษประเภทนี้มาใช้พิมพ์งานที่มีสีสันมากนัก แต่กระดาษประเภทนี้ ก็เป็นที่นิยมสำหรับงานพิมพ์ที่เป็นงานพิมพ์ 1 สี เช่น งานเนื้อในของหนังสือ หรือตำรา (ที่พิมพ์เป็น 1 สี) เป็นต้น
ความหนาของกระดาษปอนด์ที่นิยมใช้กันอยู่ คือ 70 แกรม และ 80 แกรม
ความจริงแล้วทั้งกระดาษประเภทเคลือบผิว และไม่เคลือบผิว ยังมีชนิดของกระดาษแต่ละประเภทยิบย่อยลงไปอีก เช่น พวกกระดาษผิวพิเศษต่างๆ ซึ่งเราไม่ได้นำมาพูดถึงในที่นี้
การเลือกประเภทของกระดาษให้เหมาะสมกับการใช้งาน มีความสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับคุณภาพงานพิมพ์ และต้นทุนที่เหมาะสมของการผลิตงานสิ่งพิมพ์นั่นเอง
ขนาดมาตรฐานของกระดาษแบบแผ่น
ผู้ผลิตและจำหน่ายกระดาษขนาดใหญ่สำหรับใช้ในโรงพิมพ์จะมีการบรรจุกระดาษเป็นห่อ ๆ ละ 500 แผ่นซึ่งเรียกว่า 1 รีม และมีการจัดขนาดของกระดาษเป็นมาตรฐานดังนี้
ขนาด 31 x 43 นิ้ว
ขนาด 35 x 43 นิ้ว
ขนาด 28 x 40 นิ้ว
ขนาด 25 x 36 นิ้ว
ขนาด 24 x 35 นิ้ว
(นอกจากนี้ยังมีกระดาษบางประเภทซึ่งมีขนาดบรรจุสำหรับจำหน่ายต่างไปจากที่กล่าวมาแล้วนี้)
ในการพิมพ์สิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์มักใช้ขนาด 31 x 43 นิ้ว, 35 x 43 นิ้วและ 28 x 40 นิ้ว ส่วนการพิมพ์สิ่งพิมพ์ทั่วไปรวมถึงหนังสือต่างๆ มักใช้ขนาด 31 x 43 นิ้ว, 25 x 36 นิ้ว และ 24 x 35 นิ้ว (ขนาด 31 x 43 นิ้ว เป็นขนาดที่จัดสำหรับมาตรฐานรหัสชุด B ซึ่งใหญ่กว่าขนาด B1 เล็กน้อยเพื่อเผื่อไว้สำหรับขบวนการพิมพ์ ส่วนขนาด 25 x 36 นิ้ว และ 24 x 35 นิ้ว เป็นขนาดที่จัดสำหรับมาตรฐานรหัสชุด A ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า A1 เล็กน้อย) อนึ่งกระดาษแต่ละชนิดแต่ละน้ำหนักอาจไม่มีขนาดจำหน่ายครบตามขนาดมาตรฐานที่ระบุไว้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายแต่ละราย
ขนาดพิมพ์
เครื่องพิมพ์ในระบบออฟเซ็ทแบบป้อนแผ่นมีขนาดต่าง ๆ กัน ซึ่งยังผลให้ต้องตัดเจียนกระดาษที่สั่งซื้อมาให้เหมาะเครื่องพิมพ์แต่ละเครื่องก่อนที่จะนำมาพิมพ์งาน ขนาดของเครื่องพิมพ์จะเรียกตามขนาดกระดาษที่ใหญ่ที่สุดที่สามารถเข้าเครื่องได้ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
ขนาดตัดหนึ่ง พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 35 x 49 นิ้ว
ขนาดตัดสอง พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 25 x 36 นิ้ว
ขนาดตัดสองพิเศษ พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 28 x 41 นิ้ว
ขนาดตัดสาม พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 21 x 31 นิ้ว
ขนาดตัดสี่ พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 18 x 25.5 นิ้ว
ขนาดตัดสี่พิเศษ พิมพ์กระดาษได้ใหญ่สุด 21 x 28 นิ้ว
นอกจากนี้ยังมีเครื่องพิมพ์ขนาดเล็ก คือ ขนาดตัดห้า ขนาดตัดแปด ขนาดตัดสิบเอ็ด หรือเล็กกว่านั้น
เครื่องพิมพ์ในระบบออฟเซ็ทแบบป้อนม้วนจะวัดขนาดด้วยข้อจำกัดของเส้นรอบวงของโมลพิมพ์ โดยมีขนาดด้านเข้าเครื่องตายตัว ส่วนด้านขวางเครื่องสามารถปรับความกว้างได้ ส่วนใหญ่เครื่องพิมพ์ที่มีอยู่จะมีขนาดด้านเข้าเครื่องจะมี 21 นิ้ว กับ 24 นิ้ว
ในการออกแบบสิ่งพิมพ์ ให้คำนึงถึงชิ้นงานเทียบกับแผ่นพิมพ์เพื่อเป็นการประหยัดและไม่ให้เกิดการเสียเศษกระดาษ สำหรับการพิมพ์บนเครื่องพิมพ์แบบป้อนแผ่น ให้นำชิ้นงานมาวางลงในกระดาษขนาดพิมพ์ซึ่งถูกตัดแบ่งมาจากขนาดมาตรฐานต่าง ๆ (เช่น กระดาษขนาด 31 x 43 นิ้ว เข้าเครื่องตัดสี่ ต้องแบ่งสี่ส่วนได้แผ่นพิมพ์ขนาด 15.5 x 21.5 นิ้ว) ว่ามีการเสียเศษมากน้อยเพียงใด แต่ทั้งนี้ต้องไม่วางชิดจนเกินไป ให้มีการเว้นช่องว่างระหว่างชิ้นงานไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร และเว้นระยะห่างของชิ้นงานจากขอบกระดาษด้านยาวด้านหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 มิลลิเมตร ส่วนด้านที่เหลือไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร
ชนิดของกระดาษ
การจำแนกกระดาษสามารถจัดแบ่งได้หลายวิธี ในที่นี้จะจัดแบ่งชนิดของกระดาษที่ใช้ในวงการพิมพ์ ซึ่งสามารถรวบรวมได้ดังนี้
กระดาษปรู๊ฟ (Newsprint)
เป็นกระดาษที่มีส่วนผสมของเยื่อบดที่มีเส้นใยสั้น และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสมด้วย กระดาษปรู๊ฟมีน้ำหนักเพียง 40 52 กรัม/ตารางเมตร มีสีอมเหลือง ราคาไม่แพงแต่ความแข็งแรงน้อย เหมาะสำหรับงานพิมพ์หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่ไม่ต้องการคุณภาพมาก
กระดาษแบ้งค์ (Bank Paper)
เป็นกระดาษบางไม่เคลือบผิว น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม/ตารางเมตร มีสีให้เลือกหลายสี ใช้สำหรับงานพิมพ์แบบฟอร์มต่าง ๆ ที่มีสำเนาหลายชั้น
กระดาษปอนด์ (Bond Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อเคมีที่ผ่านการฟอกและอาจมีส่วนผสมของเยื่อที่มาจากเศษผ้า มีสีขาว ผิวไม่เรียบ น้ำหนักอยู่ระหว่าง 60 100 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องความสวยงามปานกลาง พิมพ์สีเดียวหรือหลายสีก็ได้
กระดาษอาร์ต (Art Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อเคมี (เยื่อที่ผลิตโดยใช้สารเคมี) และเคลือบผิวให้เรียบด้านเดียวหรือทั้งสองด้าน การเคลือบอาจจะเคลือบมันเงาหรือแบบด้านก็ได้ มีสีขาว น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 160 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับงานพิมพ์ที่ต้องการความสวยงาม งานพิมพ์สองสี
เช่นแคตตาล็อก โบร์ชัวร์
กระดาษฟอกขาว (Woodfree Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อเคมี (เยื่อที่ผลิตโดยใช้สารเคมี) และฟอกให้ขาว เป็นกระดาษที่มีคุณภาพและมีความหนาแน่นสูง การดูดซึมน้อย ใช้สำหรับงานพิมพ์หนังสือ กระดาษพิมพ์เขียน
กระดาษเหนียว (Kraft Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อซัลเฟต (เยื่อใยยาวที่ผลิตโดยใช้สารซัลเฟต) จึงมีความเหนียวเป็นพิเศษ มีสีเป็นสีน้ำตาล น้ำหนักอยู่ระหว่าง 80 180 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ กระดาษห่อของ ถุงกระดาษ
กระดาษการ์ด (Card Board)
เป็นกระดาษที่มีความหนาและแข็งแรงประกอบด้วยชั้นของกระดาษหลายชั้น ชั้นนอกสองด้านมักเป็นสีขาว แต่ก็มีการ์ดสีต่าง ๆ ให้เลือกใช้ บางชนิดมีผิวเคลือบมันเรียบ ซึ่งเรียก กระดาษอาร์ตการ์ด น้ำหนักกระดาษการ์ดอยู่ระหว่าง 110 400 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำปกหนังสือ บรรจุภัณฑ์ที่มีราคา เช่นกล่องเครื่องสำอาง
กระดาษกล่อง (Box Paper)
เป็นกระดาษที่ทำจากเยื่อบด และมักนำเยื่อจากกระดาษใช้แล้วมาผสม มีสีคล้ำไปทางเทาหรือน้ำตาล ผิวด้านหนึ่งมักจะประกบด้วยชั้นของกระดาษขาวซึ่งอาจมีผิวเคลือบมันหรือไม่ก็ได้เพื่อความสวยงามและพิมพ์ภาพลงไปได้ หากเป็นกระดาษไม่เคลือบ จะเรียก กระดาษกล่องขาว หากเป็นกระดาษเคลือบผิวมัน จะเรียก กระดาษกล่องแป้ง น้ำหนักกระดาษกล่องอยู่ระหว่าง 180 600 กรัม/ตารางเมตร ใช้สำหรับทำสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ เช่น กล่อง ป้ายแข็ง ฯลฯ
กระดาษแข็ง (Hard Board)
เป็นกระดาษหลายชั้นแข็งหนาทำจากเยื่อไม้บดและเยื่อกระดาษเก่า มีผิวขรุขระสีคล้ำ มีคำเรียกกระดาษชนิดนี้อีกว่า กระดาษจั่วปัง น้ำหนักมีตั้งแต่ 430 กรัม/ตารางเมตรขึ้นไป ใช้ทำใส้ในของปกหนังสือ ฐานปฏิทินตั้งโต๊ะ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ
กระดาษแฟนซี (Fancy Paper)
เป็นคำเรียกโดยรวมสำหรับกระดาษที่มีรูปร่างลักษณะของเนื้อและผิวกระดาษที่ต่างจากกระดาษใช้งานทั่วไป บางชนิดมีการผสมเยื่อที่ต่างออกไป บางชนิดมีผิวเป็นลายตามแบบบนลูกกลิ้งหรือตะแกรงที่กดทับในขั้นตอนการผลิต มีสีสันให้เลือกหลากหลาย มีทั้งกระดาษบางและหนา ประโยชน์สำหรับกระดาษชนิดนี้สามารถนำไปใช้แทนกระดาษที่ใช้อยู่ทั่วไป ตั้งแต่นามบัตร หัวจดหมาย ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์
กระดาษอื่น ๆ
นอกจากกระดาษชนิดต่าง ๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นแล้ว ยังมีกระดาษชนิดอื่น ๆ อีก เช่น กระดาษถนอมสายตา กระดาษกันปลอม (Security Paper) กระดาษเอ็นซีอาร์ (Carbonless Paper) กระดาษสังเคราะห์ กระดาษสติ๊กเกอร์ ฯลฯ

|